น้องหมาช่วงฮีต หรือ ติดสัด เป็นสัญญาณธรรมชาติที่บ่งบอกได้ว่าพร้อมแล้วที่จะผสมพันธุ์แล้ว ขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นช่วงที่มือใหม่หลาย ๆ คนกังวลและสับสนว่าควรจะรับมืออย่างไรดีกับการติดสัดของน้อง เนื่องจากนอกจากจะมีอาการติดสัดแล้วก็ยังร้องเสียงดังหลายครั้งจนทำให้เรายิ่งกังวลมากขึ้นไปอีก วันนี้ Buzz Pets Food จึงมีวิธีดูแลน้องหมาช่วงฮีตหรือติดสัดมาฝากทุกคน     

สัญญาณเตือนและวงจรช่วงติดสัด (Estrus Cycle)

สัญญาณแรกที่สังเกตได้คือการบีบรัดของช่องคลอด อวัยวะเพศบวมแดงแต่จะสังเกตได้ไม่ชัดเจนมากนัก ทั้งนี้สามารถสังเกตได้อีกอย่างคือการมีของเหลวสีแดงไหลจากช่องคลอด ซึ่งคล้ายกับเลือดประจำเดือนในคน การเป็นสัดครั้งแรกจะเริ่มเมื่อสุนัขมีอายุประมาณ 6 - 12 เดือน แล้วแต่สายพันธุ์ โดยสามารถแบ่งวงจรช่วงฮีตหรือติดสัด (in heat) ได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้  
  • ระยะก่อนติดสัด (Proestrus)  ระยะเวลาประมาณ 4 - 20 วัน อวัยวะเพศเริ่มขยายใหญ่ขึ้น มักจะเห็นเลือดหรือเมือกสีแดงสดไหลออกมา คล้ายเลือดประจำเดือนในคน ทำให้หลายคนเข้าใจว่าสุนัขมีประจำเดือน ซึ่งในช่วงนี้สุนัขจะก้มไปเลียอวัยวะเพศตัวเองเพราะรู้สึกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังกินน้ำและขับถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้นด้วย
 
  • ระยะติดสัด (Estrus) ระยะเวลาประมาณ 5 - 13 วัน เลือดหรือเมือกสีแดงสดเริ่มจางลงเรื่อย ๆ สุนัขเพศเมียจะเริ่มสนใจสุนัขเพศผู้มากกว่าช่วงระยะก่อนติดสัด สังเกตได้ง่าย ๆ โดยใช้มือกดและแตะที่บริเวณหลังหรือเอวสุนัขแล้วดูว่าสุนัขยืนนิ่งยกหางหรือไม่ หากใช่ แสดงว่าเป็นการยอมรับการผสมพันธุ์นั่นเอง
 
  • ระยะหลังติดสัด (Diestrus) ระยะเวลาประมาณ 60 - 90 วัน อวัยวะเพศจะค่อย ๆ ลดขนาดลงจนกลับมาเท่าขนาดปกติ ไม่พบของเหลวไหลออกมาอีก แต่ถ้าหากน้องหมาผสมพันธุ์ไปแล้วในระยะติดสัด ก็จะตั้งท้องและคลอดลูกภายในระยะนี้
 
  • ระยะพัก (Anestrus)  ระยะเวลาประมาณ 2 - 3 เดือน เป็นระยะพักและซ่อมแซมมดลูกหรือเรียกได้ว่าเป็นระยะที่มดลูกเข้าอู่ในสุนัขที่เพิ่งออกลูก โดยเมื่อสิ้นสุดระยะนี้แล้วจะเข้าสู่วงรอบการติดสัดครั้งต่อไป
  โดยเฉลี่ยส่วนมากแล้วสุนัขจะติดสัดประมาณ 2 รอบต่อปี หรือทุก ๆ 6 เดือน สำหรับสุนัขพันธ์ุเล็กอาจติดสัดได้มากถึง 3 รอบต่อปี ในขณะที่สุนัขพันธุ์ใหญ่จะมีอาการติดสัดเพียง 2 รอบต่อปี ซึ่งถ้าน้องหมาเพิ่งมีอาการติดสัดในช่วงแรกก็ไม่ต้องตกใจไปที่วงจรการติดสัดอาจมีอะไรผิดสังเกตไปบ้าง เพราะโดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ที่วงจรการติดสัดของน้องหมาถึงจะพัฒนาให้เป็นปกติ     น้องหมา  

วิธีการดูแลน้องหมาช่วงติดสัด

  1. หากเราไม่ต้องการให้น้องหมาตั้งท้อง ควรกักบริเวณในช่วงระยะติดสัด แต่ถ้าอยากให้มีลูกช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เหมาะที่สุด เพราะสุนัขจะยอมรับการผสมพันธุ์และเป็นช่วงที่ไข่ตก จึงมีโอกาสตั้งท้องสูงมาก
  2. หมั่นดูแลเรื่องการเปลี่ยนถ่ายน้ำให้น้องหมาบ่อยครั้งขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่กินน้ำเยอะกว่าช่วงอื่น ๆ 
  3. ใส่ผ้าอ้อมหรือแพมเพิร์สให้น้องหมา เพื่อลดความยุ่งยากในการทำความสะอาด เพิ่มเวลาสังเกตและใส่ใจกับน้องหมามากขึ้นแทน
  4. สุนัขมักจะมีอาการกระสับกระส่ายมากขึ้นในช่วงติดสัด ดังนั้นจึงควรเล่นด้วยบ่อย ๆ และให้ความรักมากขึ้นเป็นพิเศษ
  5. ปล่อยให้น้องหมาได้ผ่อนคลายบ้าง เพราะในช่วงนี้จะมีอาการหงุดหงิดง่าย โมโหง่าย โดยอาจจะพาไปวิ่งเล่นเล็ก ๆ น้อย ๆ
  จะเห็นได้ว่าการสังเกตน้องหมาช่วงฮีตและติดสัด รวมถึงวิธีการดูแลน้องหมาในช่วงนี้ไม่ยากและไม่น่ากังวลอย่างที่คิดเลย ลองนำไปปรับใช้กันนะคะ แล้วคราวหน้าจะมีวิธีการดูแลน้องหมาอะไรอีก อย่าลืมติดตามกันนะคะ